Happy Preschool Activities - Homeschooling - Bilingual Children - Parenting

Monday, 14 August 2017

ทำลูกข่าง: กิจกรรมเด็กปฐมวัย

ลูกข่าง เป็นของเล่นเด็กมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ความสามารถของมันไม่โบราณเลย ลูกข่างสอนให้เด็ก ๆ รู้จักการหมุน ความสมมาตร และความสมดุล การทำลูกข่างเองทำให้เด็ก ๆ ได้สังเกตว่าลูกข่างทำงานอย่างไร แล้วถ้าเราปักแกนหมุนไปริม ๆ หล่ะ มันยังจะหมุนได้อยู่หรือเปล่า ขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้การเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย รู้จักการตั้งสมมติฐานและหาคำตอบ ว่าแล้วเราไปทำลูกข่างกันดีกว่า 

สิ่งที่ต้องเตรียม

กระดาษแข็ง
วัสดุกลม ๆ สำหรับวาดรูปวงกลม
ดินสอ
กรรไกร
สีเทียนสำหรับตกแต่ง


ลงมือทำ

  1. วาดรูปวงกลมลงบนกระดาษแข็ง  แล้วใช้กรรไกรตัดรูปวงกลมออกมา 
  2. ตกแต่งให้สวยงาม
  3. เจาะรูตรงกลางกระดาษวงกลม ใส่ดินสอลงไป
  4. ทดลองหมุน

เด็ก ๆ เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำลูกข่าง?

  1. การหมุนลูกข่าง เด็ก ๆ จะได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การหมุนโดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ใช้กล้ามเนื้อเหมือนกับการจับดินสอ ทักษะนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ เขียนหนังสือได้ดีขึ้น เพราะการเขียนหนังสือต้องอาศัยการจัดการดินสอโดยใช้มือเดียว
  2. เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์กลศาสตร์โดยการสังเกตการหมุนของลูกข่าง ลูกข่างถูกออกแบบมาให้หมุนโดยใข้ความเฉี่อยการหมุน แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไป สำหรับน้องภีมและภามวัยสองและสี่ขวบ เรายังไม่ได้คุยเรื่องนี้กัน 
  3. ลูกข่างถูกออกแบบมาให้สมมาตร เป็นความงามได้สัดส่วน และความสมดุล ความสมมาตรสามารถพบเห็นได้มากมาย ทั้งทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะวิทยา สถาปัตยากรรม ศิลปะ แม้กระทั่งดนตรี การได้สังเกตความสมมาตรนี้อาจทำให้เข้าใจพื้นฐานของอีกหลาย ๆ เรื่องได้
  1. การทำลูกข่างเองช่วยให้เด็ก ๆ ได้สังเกตการทำงานของลูกข่าง การให้เด็ก ๆ ได้เลือกว่าต้องการทำลูกข่างอย่างไร จะทำอันใหญ่อันเล็ก แกนหมุนสั้นยาว มีผลต่อการหมุนลูกข่างไหม ถ้าเปลี่ยนจากปักแกนตรงกลางมาปักริม ๆ หล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น น้องภามวัยสี่ขวบค้นพบว่าถ้าเอากระดาษแข็งไว้บนแกนสูง ๆ มันจะหมุนไม่ดีเท่ากับไว้เตี้ย ๆ ขั้นตอนเหล่านี้เป็นการฝึกฝนนักวิทยาศาสตร์น้อยไปในตัว ฝึกการตั้งสมมติฐานและหาคำตอบ
ไปดูสองสำเภาทำลูกข่างกันค่ะ 


Share:

0 comments:

Post a Comment